Posted on

ซุ้มโขงและทวารบาล

ในช่วงยุคทองของอาณาจักรล้านนาเป็นต้นมา นอกจากเจดีย์แล้ว มีองค์ประกอบเน้นทางเข้าหลักเข้าสู่เขตศาสนสถาน และอาคารเสนาสนะ เป็นอีกองค์ประกอบที่สำคัญที่สร้างด้วยวัสดุก่ออิฐถือปูน ได้แก่ ซุ้มโขง ซึ่งนอกจากประดับเจดีย์แล้ว ยังสร้างเป็นซุ้มประตูทางเข้าเขตพุทธาวาส กรอบประตูวิหาร และประดับกู่มณฑป ภายในวิหารด้วย โดยพัฒนามาใช้ลายพรรณพฤกษาแบบฉลุโปร่ง และรูปสัตว์หิมพานต์ รวมถึงลาย “นาคเกี้ยว” ลักษณะเป็นรูปนาค ๒ ตัว มีหางเกี่ยวกันเป็นกรอบซุ้ม ภายในช่องโค้งเหนือทางเข้าอาจประดับด้วยงานลายคำ เช่น ธรรมจักรและปูรณฆฏะ นอกจากนี้ มีการเน้นทางเข้าสำคัญด้วยประติมากรรมลอยตัวปูนปั้นรูปสัตว์ที่มีความหมายตามแนวความคิดจักรวาลคติ หรือการเฝ้ารักษาศาสนสถาน เช่น รูปสิงห์คู่ขนาบสองข้างทางเข้าเขตพุทธาวาส ตั้งอยู่ด้านหน้าซุ้มโขงอีกชั้นหนึ่ง และบันไดนาคที่ขึ้นสู่สถาปัตยกรรมสำคัญ เช่น เจดีย์ วิหาร อุโบสถ หอธรรม ที่นอกจากประดับรูปนาคหรือมกรคายนาคแล้ว บางแห่งอาจประดับด้วยรูปมอม และมีการประดับด้วยรูปเทวดาปูนปั้นหรือไม้แกะสลักในส่วนต่างๆ เช่น เป็นปากแลตั้งระหว่างเครื่องลำยองปิดปั้นลมต่างระดับ ประตูบานคู่ด้านหน้าวิหาร บริเวณเสาหรือมุมผนังอาคารด้านนอก หรือบนโครงหลังคาในระดับไม้คอสอง

ในช่วงหลังยุคทองของอาณาจักรล้านนา มีการทำซุ้มโขง สิงห์คู่ บันไดนาค และรูปเทวดา โดยมีรูปทรง สัดส่วนการประดับตกแต่ง ที่พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย โดยเฉพาะบันไดนาค ซึ่งเลื้อยลำตัวลงมาขดเป็นวงอยู่บนพื้นด้านหน้าบันไดสองข้าง หรือมีส่วนหางปรากฏอยู่ทางบันไดด้านหลัง

วัดพระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง
วิหารลายน้ำแต้ม วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม จังหวัดลำปาง
ลายนาคเกี้ยวประดับซุ้มประตู วัดพระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน
วัดดวงดี จังหวัดเชียงใหม่
วัดบวกครกหลวง จังหวัดเชียงใหม่
วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่
วัดจองกลาง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
วัดสระบ่อแก้ว จังหวัดแพร่

ที่มา: หนังสือสถาปัตยกรรมล้านนา
ภาพถ่าย: วีระพล สิงห์น้อย / สถาปนิก 49