Posted on

เครื่องประดับสถาปัตยกรรม ตอน ๒ “ช่วงยุคทอง – หลังยุคทองของอาณาจักรล้านนา”

ช่วงยุคทองของอาณาจักรล้านนา
เจดีย์ทรงปราสาท ลวดลายประดับองค์เจดีย์ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ที่กรอบซุ้มจระนำหรือซุ้มโขงที่รับบันไดบนชั้นฐานประทักษิณ

ประติมากรรมนูนต่ำ มีการพัฒนาลวดลายจนเป็นแบบอย่างพื้นเมืองล้านนา เส้นสายและกรอบโครงเป็นรูปทรงอิสระและเลียนแบบธรรมชาติมากขึ้น เช่น “ลายพรรณพฤกษา” (ลายเครือเถา ลายเครือล้านนา) เป็นรูปดอกไม้ใบไม้ต่างๆ รวมถึงลายดอกไม้ร่วงที่ได้รับอิทธิพลจากลังกาใช้ประดับเพื่อลดที่ว่างของพื้นหลัง “ลายเมฆไหล” ได้รับอิทธิพลศิลปะจีน และ “ลายกระหนกล้านนา” ที่ขมวดหัวจนเกือบเป็นวงกลม ลวดลายในงานประติมากรรมนูนตํ่ามีลักษณะคล้ายงานฉลุโปร่ง ขอบลายคมชัด ดูเหมือนแยกส่วนจากพื้นเรียบด้านหลัง

ประติมากรรมนูนสูง นอกจากพระพุทธรูป ยังมีรูปเทวดา และรูปสัตว์หิมพานต์ ตามแนวความคิดจักรวาลคติ เช่น นาค สิงห์ หงส์ ครุฑ กินนร กินนรี รวมไปถึงมกรและมอม เจดีย์บางองค์ประดับรูปปูนปั้นช้าง ล้อมรอบส่วนฐานประทักษิณ ตามอิทธิพลศิลปะลังกา

เจดีย์ทรงระฆัง มีบัวซ้อนชั้นรับองค์ระฆังประดับลายกลีบบัว คั่นด้วยชั้นท้องไม้เจาะช่องสี่เหลี่ยมและรูปเทวดา
การตกแต่งพื้นผิว ในช่วงยุคทองของอาณาจักรล้านนา เจดีย์บางองค์ตกแต่งพื้นผิวในบางส่วนหรือรอบองค์เจดีย์ โดยการ “หุ้มทองจังโก” ซึ่งทำด้วยทองสำริด ตีแผ่นบางสำหรับบุผิว และ “ดุนลาย” บางองค์ประดับลายเป็นแถบโอบรอบในส่วนกลางองค์ระฆังเรียกว่า “รัดอก” และในส่วนปลายองค์ระฆังเรียกว่า “บัวคอเสื้อ” ตามอิทธิพลศิลปะพุกาม หรือมีการตกแต่งพื้นผิวแบบ “ลงรักปิดทอง” เป็นลวดลายดอกไม้ประดิษฐ์

พระธาตุเจดีย์ พระธาตุเจดีย์ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ มีการประดับส่วนยอดด้วย “ฉัตร” (ฉัตรซ้อนชั้น ๓, ๕, ๗, ๙ ชั้น) และประดับ “สัปทน” (ฉัตรชั้นเดียว) ๔ มุมของส่วนฐานเจดีย์นอกเขตรั้ว ทำด้วยสำริดปิดทองหรือทองเหลืองฉลุลวดลายสวยงาม รวมทั้งประดับ “เครื่องโลหะบูชาพระธาตุ” ตั้งอยู่บนเสามุมรั้วที่ล้อมพระธาตุเจดีย์ โดยจำลองแบบเจดีย์ทรงปราสาทและเจาะช่องส่วนเรือนธาตุเพื่อจุดเทียนบูชาพระธาตุ เรียกว่า “โคมป่อง”

ซุ้มจระนำประดับลายเครือล้านนา วัดเจ็ดยอด จังหวัดเชียงใหม่
ซุ้มจระนำประดับลายเครือล้านนา วัดป่าแดงหลวง จังหวัดเชียงใหม่
ซุ้มจระนำประดับลายเครือล้านนา วัดเกาะกลาง จังหวัดลำพูน
ปูนปั้นรูปเทวดา เจดีย์วัดอุโมงค์สวนพุทธรรม จังหวัดเชียงใหม่
ปูนปั้นรูปเทวดา เจดีย์เจ็ดยอด วัดเจ็ดยอด จังหวัดเชียงใหม่
ฐานช้างล้อม เจดีย์หลวง วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่
ฐานช้างล้อม เจดีย์วัดเชียงมั่น จังหวัดเชียงใหม่

ช่วงหลังยุคทองของอาณาจักรล้านนา
เจดีย์ทรงปราสาท มีการประดับรูปเทวดาที่มุมเรือนธาตุ ในพุทธศตวรรษที่ ๒๕ การสร้างเจดีย์ที่ได้รับอิทธิพลจากพม่าและมอญ นิยมประดับ เจดีย์ด้วยเจดีย์ขนาดเล็กประจำมุม ซุ้มโขง รวมทั้งรูปสิงห์และนรสิงห์

การตกแต่งพื้นผิว มีการตกแต่งผิวองค์เจดีย์ด้วยทองมากขึ้น ทั้งการหุ้มทองจังโกแบบดั้งเดิม การตกแต่ง ลวดลายรัดอกและบัวคอเสื้อรอบองค์ระฆังเจดีย์โดยการปิดทองร่วมกับกระจกสี และในปัจจุบันมีการหุ้มผิวองค์เจดีย์ด้วยทองคำ ๙๙% โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่

วัดพระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง
วัดพระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน
วัดปงสนุก จังหวัดลำปาง
วัดพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่

ที่มา: หนังสือสถาปัตยกรรมล้านนา
ภาพถ่าย: รุ่งกิจ เจริญวัฒน์ / สถาปนิก 49