Posted on

อิทธิพลจากต่างประเทศ ตอน ๔ เรือนคหบดี

อิทธิพลพม่า ช่วงที่มีการทำสัมปทานป่าไม้ ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕ เช่น บ้านเสานัก จังหวัดลำปาง และเรือนโบราณ ๑๔๐ ปี จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีรูปแบบองค์ประกอบบางส่วนต่างออกไปจากเรือนล้านนาและเรือนสรไน อิทธิพลตะวันตก อิทธิพลทางสถาปัตยกรรมจากภายนอก ถูกนำมาผสมผสานในองค์ประกอบต่างๆ ของสถาปัตยกรรมบ้านเรือนที่อยู่อาศัยในล้านนา ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ มาจนถึงรัชกาลที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. ๒๓๙๔ – ๒๔๖๘) บ้านเมืองมีความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ และเริ่มมีความนิยมสถาปัตยกรรมตามแบบอย่างตะวันตก โดยเฉพาะรูปแบบวิคตอเรียน ที่มีการนำมาประยุกต์ใช้กับเรือนคหบดีและชนชั้นปกครอง ทำให้รูปแบบสถาปัตยกรรมเปลี่ยนไป เช่นเดียวกับคุ้มเจ้า ทั้งรูปแบบอาคารตึกหรือครึ่งตึกครึ่งไม้ มีการวางผังแบบตะวันตก และวิธีการก่อสร้างโดยการใช้ระบบผนังก่ออิฐรับนํ้าหนัก การทำช่องโค้ง มีการประยุกต์องค์ประกอบและส่วนตกแต่งสถาปัตยกรรมของ “เรือนขนมปังขิง” ตามรูปแบบวิคตอเรียน ผสมผสานกับเรือนไม้พื้นเมือง หรืออาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ ในล้านนาที่เรียกว่า “เรือนสรไน” เช่น มีหลังคาทรงปั้นหยา ฝาผนังไม้ซ้อนเกล็ดตามนอน ประตูหน้าต่างแบบบานลูกฟัก และการประดับคิ้วบัวรอบอาคาร ส่วนหลังคามีการตกแต่งเชิงชาย หน้าจั่วและส่วนยอดหลังคาด้วยไม้แกะสลักหรือฉลุลายและการประดับไม้กลึงยอดแหลมที่ปลายหน้าจั่วหลังคา เป็นต้น เป็นการเน้นความงามของอาคารด้วยการตกแต่งอย่างประณีตตามรสนิยมใหม่ในสมัยนั้น ที่มา: หนังสือสถาปัตยกรรมล้านนา ภาพถ่าย: สมาคมสถาปนิกสยาม […]

Posted on

กาแลและหัมยนต์

รูปแบบเรือนพักอาศัยของคหบดีตามแบบสถาปัตยกรรมพื้นเมืองของล้านนาที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน มีอายุเก่าแก่ที่สุดประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ประดับไม้แกะสลักลวดลาย ทั้งที่เป็นเอกลักษณ์ตามความเชื่อว่าเป็นเครื่องปกป้องสิ่งอัปมงคลไม่ให้เข้าสู่เรือน เช่น “หัมยนต์” ซึ่งเป็นไม้แกะสลักลวดลาย ติดอยู่เหนือประตูห้องนอนเจ้าของเรือน และการติดไม้ “กาแล” บนยอดปั้นลมหลังคาจั่วของเรือนกาแล รวมถึงการประดับไม้แกะสลักเพื่อความประณีตสวยงามในส่วนต่างๆ ของหลังคา ได้แก่ ไม้ปิดหัวอกไก่ ที่ติดบนยอดปั้นลมหลังคาจั่วของเรือนไม้จริง รวมทั้งเรือนกาแลบางหลังด้วย และการตกแต่งไม้แกะสลักขนาดเล็กในส่วนอื่นๆ เช่น ไม้ปิดหัวแป ที่ปิดปลายไม้แปที่ยื่นรับไม้กรอบปั้นลม ตัวเหงา ที่ปลายไม้กรอบปั้นลมทั้งสองข้าง และยางคํ้า (ปีกยาง) ที่คํ้ายันรับชายคา เป็นต้น ลวดลายประกอบ ได้แก่ ลายแม่แบบพื้นเมืองล้านนา ทั้งลายเมฆไหล ลายกระหนกล้านนา ลายพรรณพฤกษา และลายประดิษฐ์ในกรอบเรขาคณิต เช่น วงกลม สี่เหลี่ยม ตลอดจนรูปหยดนํ้า ผสมผสานเข้าด้วยกันในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่รูปแบบเรียบง่ายของไม้ปิดหัวแปที่มีขนาดเล็ก ไปจนถึงหัมยนต์ที่มีรูปแบบสลับซับซ้อนมากขึ้น ที่มา: หนังสือสถาปัตยกรรมล้านนา ภาพถ่าย: วีระพล สิงห์น้อย / รุ่งกิจ เจริญวัฒน์ / สถาปนิก 49